คำถามที่พบบ่อย Q&A
- Q (ถาม) : สามารถติดต่อ เทศบาลได้ทางไหนบ้างค่ะ
A (ตอบ) : โทรศัพท์ : 0 5442 1412 ค่ะ
- Q (ถาม) : สามารถแจ้งเหตุ อุบัติเหตุได้ที่
A (ตอบ) : โทรศัพท์ : 0 5442 1008 หรือ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 08 6700 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง ค่ะ
- Q (ถาม) : การขออนุญาตก่อสร้างอาคารสามารถถอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ไหนบ้างค่ะ
A (ตอบ) : โทรศัพท์ : 0 5442 1412 ต่อ 15 ค่ะ
- Q (ถาม) : กฎหมายควบคุมอาคารมีข้อบังคับอย่างไร ครับ
A (ตอบ) : กฎหมายควบคุมอาคารเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในท้องที่ที่มีความเจริญ มีการก่อสร้างอาคารให้มีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ซึ่งจะต้องประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในท้องที่นั้นๆเสียก่อน กฎหมายควบคุมอาคารจึงจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในท้องที่ใดก็ตาม เรามักเรียกท้องที่นั้นว่าเป็น "เขตควบคุมอาคาร" หรือหากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตผังเมืองตามกฎหมายผังเมืองแล้ว การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารในท้องที่เช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนกระทำการดังกล่าว ครับ
- Q (ถาม) : ทำไมต้องควบคุมอาคาร ครับ
A (ตอบ) : "ที่อยู่อาศัย" เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เมื่อมีคนอยู่รวมกันมากๆ มีความเจริญขยายตัวเกิดเป็นเมือง มีบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยและมีอาคารเป็นที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชน
ในเมืองมีอาคารมากมายหลายประเภท เช่น ตึกแถวร้านค้า ตลาด สำนักงาน โรงเรียนและอื่นๆ อีกมากมาย และเมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้นเป็นเมืองใหญ่หรือมหานคร อาคารก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม ศูนย์การค้า ฯลฯ อาคารเหล่านี้เป็นอาคารสาธารณะที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้าไปใช้ในแต่ละวัน ดังนั้น ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ถ้าไม่มีการควบคุมอาคารอะไรจะเกิดขึ้น
ย่อมแน่นอนว่าความไม่ปลอดภัย ความไม่เป็นระเบียบสวยงามของบ้านเมือง ความไม่ถูกสุขลักษณะ อุบัติภัย เช่น ตึกถล่ม ไฟไหม้อาคาร เป็นต้น เป็นสิ่งที่คนในเมืองต้องประสบ กฎหมายควบคุมอาคารจึงต้องควบคุมไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้
- Q (ถาม) : การพิจารณาการร่นแนวอาคาร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)ฯ ข้อ 41 จะอ้างอิงอย่างไร ครับ
A (ตอบ) : คณะกรรรมการควบคุมอาคารได้เคยพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า การร่นแนวอาคาร ตามข้อ 41 แห่ง กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)ฯ ให้วัดจากแนวผนังอาคารหรือแนวเสาด้านนอกสุด ถึงกึ่งกลางถนนสาธารณะ หรือเขตถนนสาธารณะแล้วแต่กรณี ส่วนแนวกันสาดและชายคาไม่ถือเป็นแนวอาคาร
" ข้อ 41 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตรให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร
อาคารที่สูงเกินสองชั้นหรือเกิน 8 เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะ
- (1) ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร
- (2) ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของถนนสาธารณะ
- (3) ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างเกิน 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 2 เมตร "
- Q (ถาม) : มีแบบบ้านไว้บริการประชาชนหรือไม่ครับ
A (ตอบ) : มีครับ สามารถขอดูแบบบ้านได้ที่สำนักงานกองช่างหรือสามารถหาดูได้ตาม อินเตอร์เน็ต ตัวอย่างแบบบ้านที่หน่วยงานราชการมีไว้บริการ ดังนี้ครับ
แบบบ้านเพื่อประชาชน
- โครงการแบบบ้านเพื่อประชาชน (กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th)
- แบบบ้านสานฝัน ของขวัญปีใหม่ คนไทยมีความสุข (กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th)
- แบบบ้านผู้สูงอายุ "บ้านผู้สูงอายุที่ไม่ใช่บ้านผู้สูงอายุ" (การเคหะแห่งชาติ www.nha.co.th)
- แบบบ้านผู้ประสบภัย (กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th)
- แบบศาสนสถาน (กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th)
- แบบบ้านลอยน้ำ (กรมโยธาธิการและผังเมือง www.dpt.go.th)
- Q (ถาม) : อาคารชุดกับอาคารอยู่อาศัยรวมแตกต่างกันอย่างไรครับ
A (ตอบ) : นิยามของอาคารชุด ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ( พ.ศ.2517 ) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างพุทธศักราช 2479 ว่าด้วยเรื่องที่จอดรถตามกฎหมายเดิม หมายความว่า"อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นที่พักอาศัยหลายครอบครัว โดยแต่ละครอบครัวมีห้องนอน ครัวไฟ ห้องส้วมและห้องน้ำเป็นอิสระมีทางเดินและบันไดขึ้นชั้นบนหรือลิฟต์ใช้ร่วมกัน"
นิยามอาคารอยู่อาศัยรวม ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 ( พ.ศ.2543) หมายความว่า "อาคารหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัว" เมื่อมีคำนิยามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 อาคารชุดจึงเข้าข่ายเป็นอาคารอยู่อาศัยรวมด้วย ข้อแตกต่างคืออาคารชุดต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และเข้าข่ายเป็นอาคารควบคุมการใช้ตามมาตรา32 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เมื่อก่อสร้างเสร็จก่อนเปิดใช้งานต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบการก่อสร้างเพื่อออกใบรับรอง อ.6 ด้วยครับ
- Q (ถาม) การโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทำได้หรือไม่ครับ
A (ตอบ) : การโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารทำได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าขั้นตอนการก่อสร้างของอาคารนั้นอยู่ในขั้นตอนใดประกอบด้วย ตามกรณีดังนี้
กรณีที่ 1 การขอโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยที่ยังมิได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารใดๆ ต้องเป็นกรณีใบอนุญาตก่อสร้างอาคารยังไม่สิ้นอายุจึงสามารถกระทำได้ แต่ผู้รับโอนใบอนุญาตจะต้องแนบหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้รับโอนเพิ่มเติมให้แก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่น หนังสือยินยอมของผู้ควบคุมงาน เป็นต้น และจะต้องปฎิบัติตามแบบแปลนและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตนั้นทุกประการ
กรณีที่ 2 การขอโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารในบางส่วนแล้ว ให้ปฏิบัติ เช่นเดียวกับกรณีที่ 1 แต่หากพบการก่อสร้างอาคารผิดจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้อนุญาต หรือก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าของอาคารจะต้องแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารก่อน จึงจะพิจารณาโอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นได้
- Q (ถาม) : ตามปกติในการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ที่ต้องยื่นขออนุญาตมากกว่า 1 ชุด จะเป็นการจัดทำสำเนาจากต้นฉบับ (เช่น พิมพ์เขียว หรือถ่ายเอกสาร) การลงลายมือชื่อของผู้รับผิดชอบงานออกแบบและผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ ในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณ ดังกล่าว จะใช้วิธีลงลายมือชื่อในเอกสารต้นฉบับที่นำไปทำสำเนาโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อในสำเนาทุกแผ่นทุกชุดได้หรือไม่
A (ตอบ) : วิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบอาคารนั้นจะใช้วิธีลงลายมือในเอกสารต้นฉบับที่นำไปทำสำเนาโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อในสำเนาทุกแผ่นทุกชุดก็ได้ เพราะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2528) ข้อ 10 วรรคหนึ่งได้ระบุว่า “...หรือจะใช้สิ่งพิมพ์สำเนา ภาพถ่ายที่ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ หรือผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณได้ลงลายมือชื่อพร้อมกับเขียนชื่อด้วยตัวบรรจง และระบุรายละเอียดดังกล่าวแทนก็ได้”
- Q (ถาม) : ในการขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร สถาปนิก(ผู้รับผิดชอบงานออกแบบ) จะต้องลงลายมือชื่อในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณทุกแผ่นของวิศวกร (ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณ) ด้วยหรือไม่ และในทางกลับกัน วิศวกรจะต้องลงลายมือชื่อในแผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน ของสถาปนิกด้วยหรือไม่
A (ตอบ) : วิศวกรและสถาปนิกจะต้องลงลายมือชื่อในแบบแปลนทุกแผ่น ทั้งนี้เพราะว่างานทุกระบบในแบบก่อสร้างอาคารหลังเดียวกันจะเกี่ยวข้องกันทั้งหมดและเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อให้งานถูกต้องสมบูรณ์ด้วย
- Q (ถาม) : ในขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร กรณีซึ่งไม่ใช่เป็นการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ยื่นขออนุญาตจำเป็นจะต้องแจ้งชื่อและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานด้วยหรือไม่
A (ตอบ) : ในขั้นตอนการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร กรณีซึ่งไม่ใช่เป็นการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ผู้ยื่นขออนุญาตไม่จำเป็นจะต้องแจ้งชื่อและยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานด้วยเพราะตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้จะต้องระบุชื่อผู้ควบคุมงานพร้อมกับหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานหลังจากที่ผู้ขออนุญาตได้รับใบอนุญาตก่อสร้างดัดแปลงแล้ว
- Q (ถาม) : แบบ ข.1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ฯ หากผู้ยื่นขออนุญาตไม่กรอกข้อความระบุชื่อผู้ควบคุมงานในข้อ 3 ของแบบ และไม่ได้ยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานตามข้อ 5(8) ของแบบ จะทำให้คำขออนุญาตและเอกสารที่แนบพร้อมคำขอ ไม่ครบถ้วนหรือไม่
A (ตอบ) : แบบ ข.1 ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2528)ฯ หากผู้ยื่นขออนุญาตไม่กรอกข้อความระบุชื่อผู้ควบคุมงานในข้อ 3 ของแบบ ข.1 และไม่ได้ยื่นเอกสารรับรองของผู้ควบคุมงานตามข้อ 5(8) ของแบบ ข.1 ก็ได้ โดยจะไม่มีผลทำให้คำขออนุญาตและเอกสารที่แนบพร้อมคำขอไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ โดยผลของมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
- Q (ถาม) : อยากทราบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯ โอนเงินหรือจ่ายเมื่อไหร่ วันไหน ครับ
A (ตอบ) : ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนครับ
- Q (ถาม) : มีการให้บริการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ค่ะ
A (ตอบ) : มีค่ะ มีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า สำหรับสุนัข และแมว โดยสอบถามข้อมูลละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสาธรณสุข สำนักปลัดเทศบาล โทร 0 5442 1412 ต่อ 11 ค่ะ
- Q (ถาม) : อยากทราบช่วงเวลาการชำระภาษีท้องถิ่นประจำปีครับ
A (ตอบ) :
- ภาษีโรงเรีอนและที่ดินเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับมอบอำนาจยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สิน (ภ.ร.ด.2) ต่อพนักงาน ฯ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี "หรือชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งการประเมิน"
- ภาษีป้าย ยื่นแบบ (ภ.ป.1) ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง สิ้นเดือน กุมภาพันธ์ ของทุกปี ยกเว้นป้ายที่ติดตั้งใหม่ให้ยื่นแบบแสดงรายการภายใน 15 วัน "หรือชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันรับแจ้งการประเมิน"
- ภาษีบำรุงท้องที่ ให้เจ้าของที่ดิน ผู้ครอบครองที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภ.บ.ท.5) ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง สิ้นเดือน เมษายน ของทุกปี" หรือผู้ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่หรือเนื้อที่ดินเปลี่ยนแปลงให้ยื่นแบบภายใน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โอนกรรมสิทธิ์"
- หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานพัฒนารายได้ โทร โทร 0 5442 1412 ต่อ 18 ค่ะ